หลักการและเหตุผล

          สืบเนื่องจากทิศทางการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดหนองคาย และจังหวัดบึงกาฬ ที่ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ การผลิต และการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงอัตลักษณ์ในเรื่องของอารยธรรม ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และประเพณีของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเพิ่มศักยภาพการผลิตทางการเกษตรและการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการแข่งขัน ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านการค้า เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การบริการ การท่องเที่ยว ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและประชาคมอาเซียน” อันมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเกษตรอุตสาหกรรมและแปรรูป การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ไหม และการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

          จังหวัดอุดรธานี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายการพัฒนากลุ่มจังหวัด การมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน และมีการตั้งถิ่นฐานชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จวบจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้พื้นที่มีความสำคัญและมีความหลากหลายในด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งการท่องเที่ยวในเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดีธรรมชาติวิทยา ธรณีวิทยา และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรม เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และศูนย์กลางทางการศึกษา เป็นเมืองที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองที่พร้อมจะปรับตัวเข้าหาการพัฒนาของโลกยุคใหม่ จึงเป็นเมืองที่มีการพัฒนา เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รับโอกาสจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาลซึ่งอาจทำให้เมืองมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การเติบโตดังกล่าวอาจส่งผลกระทบและปัญหาบางประการ เช่น ปัญหาความขัดแย้งด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวมีความเสื่อมโทรม การตั้งถิ่นฐานไม่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ นำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยต่อการอยู่อาศัย เสี่ยงต่อภัยพิบัติ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนเมือง

          ดังนั้น เพื่อให้ก้าวทันแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ยุทธศาสตร์ชาติ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่ง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและอุทกภัย จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองอุดรธานีให้สอดคล้องเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เป็นผู้ดำเนินการหรือกำกับดูแลความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่ปัจจุบันพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังขาดความพร้อมในด้านองค์ความรู้ งบประมาณ และบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมให้บรรลุผลสำเร็จได้ทันเวลา ประกอบกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีความจำเป็นต้องว่าจ้างสถาบันการศึกษาหรือภาคเอกชนเพื่อดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของกรมโยธาธิการและผังเมืองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอุดรธานี

          การวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี จะเป็นกรอบชี้นำการพัฒนาทางด้านกายภาพในระดับเมืองและระดับจังหวัด จัดทำขึ้นเป็นแผนผัง นโยบาย และโครงการ รวมทั้งมาตรการที่ใช้เป็นแนวทางในการควบคุมและแนวทางในการพัฒนาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค สาธารณูปการ บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม เพื่อสร้างหรือพัฒนาเมืองให้มีหรือทำให้ดียิ่งขึ้นซึ่งสุขลักษณะความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง ความปลอดภัยของประชาชน สวัสดิภาพของสังคม การป้องกันภัยพิบัติ และการป้องกันความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม เพื่อดำรงรักษาหรือบูรณะสถานที่และวัตถุที่มีประโยชน์หรือมีคุณค่าในทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี หรือบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภูมิประเทศที่งดงามหรือมีคุณค่าในทางธรรมชาติต่อไป