1.      การประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ และรับทราบนโยบายการพัฒนาพื้นที่

         ผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (ปรับปรุงครั้งที่ 3)

          การประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ และรับทราบนโยบายการพัฒนาพื้นที่ผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (ปรับปรุงครั้งที่ 3) เป็นการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์ ชี้แจงรายละเอียดแนวทางการดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (ปรับปรุงครั้งที่ 3) รวมถึงรับฟังและรับทราบนโยบายการพัฒนาพื้นที่ และข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำโครงการ

          1)  กำหนดการประชุม

               การประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ และรับทราบนโยบายการพัฒนาพื้นที่ผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (ปรับปรุงครั้งที่ 3) จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565 เวลา 08.30 – 12.00 น.
ณ ห้องประชุม First Class 2 โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

          2)  ผู้เข้าร่วมประชุม

               ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดอุดรธานี ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอเมืองอุดรธานี ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอำเภอเมืองอุดรธานี ผู้บริหารภาคเอกชน ผู้ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาพื้นที่เมืองอุดรธานี และผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (ปรับปรุงครั้งที่ 3) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมรวมทั้งสิ้น จำนวน 92 คน

รูปภาพบรรยากาศการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ และรับทราบนโยบายการพัฒนาพื้นที่ผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (ปรับปรุงครั้งที่ 3)

2.      การเสวนา และให้ข้อชี้แนะในการดำเนินโครงการวางและจัดทำ
ผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (ปรับปรุงครั้งที่ 3)

          การเสวนา และให้ข้อชี้แนะในการดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (ปรับปรุงครั้งที่ 3) เป็นการพูดคุยถึงความต้องการและแนวทางในการพัฒนาเมืองอุดรธานีอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และบริบทของเมืองอุดรธานีอย่างละเอียด และครอบคลุมการพัฒนาทุกมิติของเมืองอุดรธานี โดยมีรายละเอียดการประชุมดังนี้

          1)  กำหนดการประชุม

               การเสวนา และให้ข้อชี้แนะในการดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (ปรับปรุงครั้งที่ 3) จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ ห้อง The Balcony โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี  

          2)  ผู้เข้าร่วมประชุม

               ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญข้อมูลเชิงพื้นที่ในการให้ข้อชี้แนะการดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (ปรับปรุงครั้งที่ 3) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมรวมทั้งสิ้น จำนวน 28 คน

รูปภาพบรรยากาศการเสวนา และให้ข้อชี้แนะในการดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (ปรับปรุงครั้งที่ 3)

3.      การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1

          การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (ปรับปรุงครั้งที่ 3) เป็นการดำเนินการตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์การวางและจัดทำผังเมืองรวม รับทราบความต้องการและสภาพปัญหาในพื้นที่ และเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานวางผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี ร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นสร้างความรู้ความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง และให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน โดยแบ่งการประชุมออกเป็น 5 กลุ่ม ตามกลุ่มพื้นที่ และมีรายละเอียดการดำเนินการดังนี้

          1)  กำหนดการประชุมและกลุ่มเป้าหมาย

               การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2565 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม 2565 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่วางผังฯ โดยมีกำหนดการประชุมและกลุ่มเป้าหมายโดยสรุปดังนี้

          2)  การประชาสัมพันธ์ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562

               ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 คณะกรรมการผังเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ จึงกำหนดประกาศคณะกรรมการผังเมือง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการ รับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทําผังเมืองรวม พ.ศ. 2565 โดยระบุให้ในกรณีที่จะมีการวางและจัดทําผังเมืองรวมในท้องที่ใด ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีการที่หลากหลาย และทั่วถึงเพื่อให้ประชาชนในท้องที่ที่จะมีการวางและจัดทําผังเมืองรวมทราบถึงการที่จะวางและจัดทําผังเมืองรวมดังกล่าว โดยคํานึงถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบ และมีข้อมูลเพียงพอต่อการที่ประชาชนจะเข้าใจถึงผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายแก่ประชาชนหรือชุมชน ทั้งนี้ในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 ได้ดำเนินการตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทําผังเมืองรวม พ.ศ. 2565 โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันที่กำหนดให้มีการประชุม (ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2565) มีช่องทางการประชาสัมพันธ์ ดังนี้

               (1) การประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)

                    Facebook กรมโยธาธิการและผังเมือง @DPT.PR.GO.TH (งานประชาสัมพันธ์กรมโยธาธิการและผังเมือง) และ Line กรมโยธาธิการและผังเมือง DPT Information

รูปการประชาสัมพันธ์ทาง Facebook และ Line กรมโยธาธิการและผังเมือง

Website และ Facebook ของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุดรธานี

รูปการประชาสัมพันธ์ทาง Website และ Facebook ของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุดรธานี

Website ของโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (www.udonthani-comprehensiveplan.com)

รูปการประชาสัมพันธ์ทาง Website ของโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี

Facebook โครงการ www.facebook.com/UdonPlan

Facebook ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอุดรธานี

(2)      การประชาสัมพันธ์ผ่านทางป้ายประชาสัมพันธ์

                     การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 โดยป้ายประชาสัมพันธ์ระบุเขตท้องที่ที่จะวางและจัดทําผังเมืองรวม แนวคิด วัตถุประสงค์ในการรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน วัน เวลา สถานที่ที่จะจัดให้มีการประชุม และช่องทางในการมีสวนรวมของประชาชน โดยมีรูปแบบป้ายประชาสัมพันธ์

รูปแบบป้ายประชาสัมพันธ์ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1

ทั้งนี้ในการดำเนินการได้กำหนดสถานที่ประชาสัมพันธ์ผ่านทางป้ายประชาสัมพันธ์ จำนวน 81 แห่ง ครอบคลุมทั้ง 25 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่วางผังฯ ประกอบด้วย บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลหรือที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล สถานที่ราชการที่เกี่ยวข้อง และสาธารณสถานที่สำคัญ ดังนี้

(3) การประชาสัมพันธ์ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงชุมชน และรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่

                        เป็นการดำเนินการประชาสัมพันธ์การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 โดยรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่จะกระจายเสียงไปทุกองค์กรครองส่วนท้องถิ่นผ่านพื้นที่ศูนย์กลางเมืองหรือชุมชน และสถานที่ราชการสำคัญ เป็นหลักทั้งนี้ รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่จะติดป้ายประชาสัมพันธ์การประชุม และเผยแพร่กระจายเสียงเพื่อเชิญชวนเข้าร่วมประชุมโดยมีข้อความในการกระจายเสียงเช่นเดียวกับการประชาสัมพันธ์ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงชุมชน

3)  การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 (กลุ่มที่ 1)

               การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 (กลุ่มที่ 1) พื้นที่กลุ่มเทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลเมืองหนองสำโรง เทศบาลตำบลบ้านจั่น องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจั่น องค์การบริหารส่วนตำบลนาดี องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงพิณ องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงยืน และองค์การบริหารส่วนตำบลหมูม่น จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม The Crystal Top ชั้น 6 โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 98 คน แลสามารถสรุปประเด็นที่ได้จากการประชุมดังนี้

               (1) ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน

                    –    พื้นที่ที่เหมาะสมในการส่งเสริมการพัฒนาของตำบลนาดี คือ บริเวณกุดลิงง้อ

                    –    เสนอแนะให้ขยายที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองสำโรง เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่อยู่อาศัย และการจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย และบริเวณถนนสายอุดรธานี – กุดจับ ไปจนถึงตำบลเชียงพิณ

                    –    เสนอแนะให้เพิ่มเติมการกำหนดพื้นที่น้ำซึมผ่านได้ในผังเมืองรวมฯ

                    –    ทบทวนการอนุญาตกิจการประเภทโรงแรมในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ด้วยเงื่อนไขจำนวนห้องพัก และความสูงอาคาร เพื่อส่งเสริมให้เป็นโรงแรมที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่รอบนอกเมืองอุดรธานี

                    –    ทบทวนการกำหนดที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ให้มีความเหมาะสม และสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอื่นๆ ได้มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันมีการขยายตัวของพื้นที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม

                 –   ทบทวนการกำหนดที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว) ของผังเมืองรวมจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2560 ในพื้นที่ตำบลเชียงพิณ และบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 210 ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต

                    –    ทบทวนการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณตลาดโพธิ์ศรีให้สามารถประกอบกิจการประเภทพาณิชยกรรมได้

               (2) ด้านคมนาคมและขนส่ง

                               –       เสนอแนะให้ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองสำโรง

                    –    เสนอแนะให้ขยายช่องจราจรทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2263 เป็น 4 ช่องจราจร พร้อมทางระบายน้ำ

                    –    เสนอแนะให้พัฒนา Local Road ตามแนวคลองชลประทาน

                (3) ด้านอื่นๆ

                    เสนอแนะให้พัฒนาอ่างเก็บน้ำหนองสำโรงเป็นแหล่งท่องเที่ยว

รูปการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 (กลุ่มที่ 1)

4)  การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 (กลุ่มที่ 2)

               การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 (กลุ่มที่ 2) พื้นที่กลุ่มเทศบาลตำบลนิคมสงเคราะห์ องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมสงเคราะห์ องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุม The Crystal Top ชั้น 6 โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 38 คน สามารถสรุปประเด็นที่ได้จากการประชุม ดังนี้

               (1) ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน

                     –     พื้นที่ตำบลหนองไฮมีข้อจำกัดในพัฒนา คือ มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและที่ราชพัสดุจำนวนมาก

                    –    ทบทวนการกำหนดที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ของผังเมืองรวมจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2560 ให้สามารถขยาย และการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มเติมได้

                    –    ทบทวนการเลี้ยงสัตว์ในที่ดินประเภทชุมชน (สีชมพู) ของผังเมืองรวมจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2560 เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์จำนวนมากส่งผลกระทบเรื่องกลิ่น

                    –    เสนอแนะให้ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของจังหวัดอุดรธานี

                    –    เสนอแนะให้ทบทวนการกำหนดขนาด และความสูงของอาคารในที่ดินประเภทชุมชน (สีชมพู) ของผังเมืองรวมจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2560 ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

                    –    ทบทวนการกำหนดโรงงานลำดับที่ 92 โรงงานหองเย็นที่ใชแอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น และโรงงานเกี่ยวกับการผลิตน้ำแข็งใช้แอมโมเนียในการผลิตน้ำแข็งในพื้นที่ที่เหมาะสม

                    –    เสนอแนะให้มีการกำหนดขนาดพื้นที่ของกิจการเกี่ยวกับลานตากผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรบางอย่างส่งกลิ่นเหม็น

                        –     เสนอแนะให้ควบคุมกิจการเกี่ยวกับแพล้นท์ปูนในพื้นที่ชุมชน เนื่องจากเป็นกิจการที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง ทั้งในการบวนการผลิต และการจราจรของรถบรรทุก

                    –    ทบทวนการกำหนดขนาดอาคาร (300 ตารางเมตร) ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

                    –    เสนอแนะให้กำหนดพื้นที่พัฒนาด้านที่อยู่อาศัย และพาณิชยกรรมบริเวณถนนสายหลัก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2313) ของตำบลหนองไฮ                          –    เสนอแนะให้ทบทวนประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินในตำบลเชียงยืน และเสนอแนะให้กำหนดพื้นที่ด้านตะวันออกของตำบลเชียงยืน บริเวณติดต่อกับเทศบาลเมืองหนองสำโรง และองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงพิณเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการพัฒนา

(2)      ด้านคมนาคมและขนส่ง

               –    เสนอแนะให้มีการพัฒนาถนนสายรองที่เชื่อมต่อหมู่บ้าน

                  –     เสนอแนะให้พัฒนาเส้นทางคมนาคมพื้นที่ศูนย์กลางตำบลหนองไฮ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปยังแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอหนองแสง

               –    เสนอแนะให้พัฒนาเส้นทางคมนาคมเลียบห้วยหลวง เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน

               (3) ด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ

                    พื้นที่ตำบลหมูม่นได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งของห้วยหลวง ทำให้น้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนในพื้นที่

          5)  การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 (กลุ่มที่ 3)

                การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 (กลุ่มที่ 3) พื้นที่กลุ่มเทศบาลตำบลหนองบัว เทศบาลตำบลหนองขอนกว้าง องค์การบริหารส่วนตำบลกุดสระ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองนาคำ และองค์การบริหารส่วนตำบลสามพร้าว จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมมงกุฎดาว โรงแรมสยามแกรนด์อุดรธานี มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 41 คน สามารถสรุปประเด็นที่ได้จากการประชุม ดังนี้

               (1) ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน

                        –     เสนอแนะให้กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินตามขอบเขตการปกครอง เพื่อความสะดวกในการคำนวณสัดส่วนในการให้อนุญาตการก่อสร้างอาคาร หรือการใช้ประโยชน์ที่ดิน

                    –    เสนอแนะให้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ตามแนวถนนสาย จ ของผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี พ.ศ. 2553

                    –    เสนอแนะให้ทบทวนที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (สีม่วง) ของผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี พ.ศ. 2553 ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

                    –    ทบทวนการกำหนดที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) บริเวณเทศบาลตำบลหนองบัว เนื่องจากปัจจุบันมีการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้น และมีการทำเกษตรกรรมน้อยลง

                    –    เสนอแนะให้กำหนดสัดส่วนพื้นที่คลุมดินของแต่ละแปลง

(2)      ด้านคมนาคมและขนส่ง

                        –     ซอยแสงเจริญในพื้นที่เทศบาลตำบลหนองบัวสามารถเชื่อมไปยังตำบลสามพร้าวได้เสนอแนะให้พัฒนาเส้นทางดังกล่าวเป็นถนนตามผังเมืองรวมฯ

                    –    ทบทวนการกำหนดแนวถนนของผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี พ.ศ. 2553 ให้มีความเป็นไปได้ และสามารถก่อสร้างได้จริง

                        –     เสนอแนะให้เพิ่มเติมแนวเส้นทางจากจังหวัดหนองคายไปยังพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก เพื่อลดปริมาณจราจรบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2

               (3) ด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ

                    –    เสนอแนะให้มีการพัฒนาเรื่องการระบายน้ำ และการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

                    –    ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองนาคำมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบ่อขยะ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมขยะของจังหวัดอุดรธานีซึ่งเป็นบ่อขยะที่อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครอุดรธานี และเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับขยะ ได้แก่ โรงงานตะกั่วซึ่งเป็นมลพิษต่อพื้นที่เป็นอย่างมาก โรงผลิตไฟฟ้าจากขยะ และโรงงานแปรรูปขยะ เป็นต้น

          6)  การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 (กลุ่มที่ 4)

               การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 (กลุ่มที่ 4) พื้นที่กลุ่มเทศบาลเมืองโนนสูง – น้ำคำ เทศบาลตำบลบ้านตาด เทศบาลตำบลหนองไผ่ และองค์การบริหารส่วนตำบลโนนสูง จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุม see view ไอวิวพาร์ค รีสอร์ท อุดรธานี มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 52 คน สามารถสรุปประเด็นที่ได้จากการประชุม ดังนี้

               (1) ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน

                    –    เทศบาลเมืองโนนสูง-น้ำคำ มีค่ายทหารจำนวน 2 แห่ง คือ ค่ายรามสูร และค่ายทหารปืนใหญ่

                    –    พื้นที่เทศบาลตำบลหนองไผ่ และพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนสูง ควรจะเป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมในอนาคต

               (2) ด้านคมนาคมและขนส่ง

                   เสนอแนะให้พัฒนาเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมระหว่างตำบลบ้านตาด และตำบลบ้านจั่นมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

          (3) ด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ

                    เสนอแนะให้พัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนสูงให้สามารให้บริการได้อย่างทั่วถึง และครอบคลุม

               (4) ด้านอื่นๆ

                    ตำบลบ้านตาดมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) และวัดป่าบ้านตาด

          7)  การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 (กลุ่มที่ 5)

               การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 1 (กลุ่มที่ 5) พื้นที่กลุ่มเทศบาลตำบลนาข่า องค์การบริหารส่วนตำบลนาข่า องค์การบริหารส่วนตำบลนากว้าง และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขาว จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมจอมขวัญ โรงแรมนาข่าบุรี รีสอร์ท อุดรธานี มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 62 คน สามารถสรุปประเด็นที่ได้จากการประชุม ดังนี้

               (1) ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน

                    –    ควรมีการจัดโซนพื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม

                    –    เห็นด้วยกับเรื่องที่ในอนาคตพื้นที่บริเวณตำบลบ้านขาว และตำบลนากว้าง ควรมีการพัฒนาหมู่บ้านจัดสรรได้ ซึ่งอยากให้ในการทำจัดทำผังเมืองรวมมีการระบุให้ชัดเจน

                    –    เสนอแนะให้กำหนดและควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2021 ให้มีความเหมาะสม

                    –    ทบทวนการกำหนดกิจการประเภทการจัดสรรที่ดิน และขนาดอาคารในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ให้มีความเหมาะสม

                (2) ด้านคมนาคมและขนส่ง

                    เสนอแนะให้พัฒนาเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมระหว่างตำบลบ้านตาด และตำบลบ้านจั่นมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

               (3) ด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ

                    เสนอแนะให้พัฒนาระบบประปาในองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขาวให้สามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

4.      การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2

          1)  การประชาสัมพันธ์ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562

               ในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 ได้ดำเนินการตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟัง ความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวม พ.ศ. 2565 โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันที่กำหนดให้มีการประชุม (ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2565) โดยมีช่องทางการประชาสัมพันธ์ ดังนี้

               (1)  Facebook กรมโยธาธิการและผังเมือง @DPT.PR.GO.TH (งานประชาสัมพันธ์กรมโยธาธิการและผังเมือง) และ Line กรมโยธาธิการและผังเมือง DPT Information

(2)       Website และ Facebook ของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุดรธานี

(3)       Website ของโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี (www.udonthani-comprehensiveplan.com)

(4)       Facebook โครงการ www.facebook.com/UdonPlan

(5)       Facebook ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอุดรธานี

2)       การประชาสัมพันธ์ผ่านทางป้ายประชาสัมพันธ์

               การรับฟังความคิดเห็นประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 โดยป้ายประชาสัมพันธ์ระบุเขตท้องที่ที่จะวางและจัดทําผังเมืองรวม แนวคิด วัตถุประสงค์ในการรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือ
กับประชาชน วัน เวลา สถานที่ที่จะจัดให้มีการประชุม และช่องทางในการมีส่วนร่วมของประชาชน
โดยมีรูปแบบป้ายประชาสัมพันธ์

ทั้งนี้ ในการดำเนินการได้กำหนดสถานที่ประชาสัมพันธ์ผ่านทางป้ายประชาสัมพันธ์ จำนวน 81 แห่ง ครอบคลุมทั้ง 25 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่วางผังฯ ประกอบด้วย บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลหรือที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล สถานที่ราชการที่เกี่ยวข้อง และสาธารณสถานที่สำคัญ เช่น สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ศาสนสถาน สถานศึกษา ศูนย์กลางชุมชน สถานที่จัดประชุม เป็นต้น

3)       การประชาสัมพันธ์ผ่านทางวิทยุ และรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่

               เป็นการกระจายเสียงประชาสัมพันธ์ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดอุดรธานี และสถานีวิทยุเมโลดี้ เอฟเอ็ม เรดิโอ และกระจายเสียงผ่านระบบเสียงตามสายชุมชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ผังเมืองรวมฯ รวมทั้งจัดให้มีรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่จะติดป้ายประชาสัมพันธ์การประชุม และเผยแพร่กระจายเสียงเพื่อเชิญชวนเข้าร่วมประชุม เพื่อเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2  

     4)  การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 1)

          การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 1) พื้นที่กลุ่มเทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลเมืองหนองสำโรง เทศบาลตำบลบ้านจั่น องค์การบริหารส่วนตำบล
บ้านจั่น องค์การบริหารส่วนตำบลนาดี องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงพิณ องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงยืน และองค์การบริหารส่วนตำบลหมูม่น
จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2565 เวลา 09.00 – 12.00 น.
ณ ห้องประชุม First Class 2 อาคารสระว่ายน้ำ ชั้น 2 โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 127 คน สามารถสรุปประเด็นที่ได้จากการประชุมดังนี้

          (1) ศักยภาพ ปัญหา ข้อจำกัด

               –    ขอให้แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณโรงเรียนดอนบอสโกวิทยา อุดรธานี สี่แยกบ้านเลื่อม และถนนศรีสุข

             –   เสนอแนะให้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรถนนสายบ้านฉาง เข้าสู่ตำบลหมูม่น ตำบลนากว้าง และไปยังอำเภอบ้านผือที่มีการขยายช่องจราจรเป็น 4 ช่อง เพื่อแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ

               –    เสนอแนะให้มีทางกลับรถถนนอุดรธานี – หนองคาย เพื่อแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ

               –    เสนอแนะให้ย้ายตำแหน่งสถานีขนส่ง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณสี่แยก

               –    เสนอแนะให้พัฒนาถนนสายรองที่เป็นรอยต่อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อหลีกเลี่ยงรถติดของถนนสายหลัก

               –    เสนอแนะให้พัฒนาถนนเลียบคลองชลประทาน เนื่องจากถนนสายอุดรธานี – เชียงยืน
ถนนสายอุดรธานี – กุดจับมีการจราจรติดขัด และเป็นเส้นทางที่รองรับพื้นที่อุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร

               –    พื้นที่ส่วนใหญ่ของเทศบาลเมืองหนองสำโรงเป็นที่พักอาศัย ห้างร้านขนาดใหญ่ มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ประชาชนที่อาศัยอยู่เดิมได้รับผลกระทบ

               –    คันคูของห้วยหลวงต่ำลง ทำให้ในช่วงน้ำหลากน้ำจากห้วยหลวงไหลท่วมพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน

                    –    ชุมชนไทยสมุทรมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิง
ขอให้ระบายน้ำให้เร็วที่สุด เช่น ทำท่อขนาดใหญ่ และนำเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้ามาติดตั้งแบบถาวร เพื่อให้ผลักน้ำลงลำน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น

               (2) การจัดทำร่างผังเมืองรวม

                    –    เห็นด้วยกับการกำหนดเขตพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร และเสนอแนะให้พัฒนาเส้นทางคมนาคมรองรับเขตอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด

                    –    เสนอแนะให้กำหนดพื้นที่รวบรวมสินค้าทางการเกษตร

                    –    เสนอแนะให้ทบทวนการกำหนดที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมตามแนวเส้นทางสายหลัก เนื่องจากเส้นทางสายหลักมีศักยภาพในการพัฒนา

                    –    เสนอแนะให้กำหนดแหล่งน้ำสาธารณะขนาดเล็ก ที่มีขนาดน้อยกว่า 50 ไร่ ในผังเมืองรวมฯ

                    –    แหล่งน้ำในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองสำโรงถูกบุกรุก ทำให้แหล่งน้ำที่เคยเป็นพื้นที่รับน้ำ และพื้นที่แก้มลิงรับน้ำได้น้อยลง

                    –    เสนอแนะให้อนุรักษ์และพัฒนาอ่างเก็บน้ำหนองสำโรงเป็นแหล่งท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อน และสถานที่ออกกำลังกาย โดยปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบเช่นเดียวกับหนองประจักษ์ และหนองสิม

                (3) กรอบแนวคิดและทางเลือกในการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี

                    –    เห็นด้วยกับผังทางเลือกที่ 2 ขยายการกระจายตัวออกจากศูนย์กลางหลัก เพื่อลดปัญหาการกระจุกตัวของศูนย์กลางหลัก พร้อมกับการรักษาพื้นที่เกษตรกรรม สภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

                    –    ความแตกต่างของผังทางเลือกทั้ง 2 ทั้ง ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร หากพิจารณาตามมุมมองเห็นด้วยกับผังทางเลือกที่ 2 เนื่องจากมีการกระจายตัวของศูนย์กลางรองในเส้นทางสายหลักทำให้การเติบโตของเมืองเป็นไปได้ดีขึ้น และมีการอนุรักษ์ สงวนรักษาพื้นที่เกษตรกรรม และสภาพแวดล้อม น่าจะเป็นแนวคิดที่ดี

               ทั้งนี้ ในการรับฟังความคิดเห็น ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 1) ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับผังทางเลือกที่ 2 การขยายตัวอย่างระมัดระวังและยืดหยุ่นภายใต้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยความเสี่ยงภายนอก และเห็นว่าการพัฒนาของเมืองอุดรธานีมีความสอดคล้องกับแนวคิดในการวางผัง

     5)  การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 2)

               การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 2) พื้นที่กลุ่มเทศบาลตำบลนิคมสงเคราะห์ องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมสงเคราะห์ องค์การบริหารส่วนตำบล
โคกสะอาด และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ
จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2565 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุม First Class 2 อาคารสระว่ายน้ำ ชั้น 2 โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 42 คน สามารถสรุปประเด็นที่ได้จากการประชุม ดังนี้

               (1) ศักยภาพ ปัญหา ข้อจำกัด

                    –    พื้นที่เทศบาลตำบลนิคมสงเคราะห์เป็นพื้นที่ขนาดเล็ก มีพื้นที่ทับซ้อนกับองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด และองค์การบริหารส่วนตำบลนิคมสงเคราะห์

                    –    พื้นที่เทศบาลตำบลนิคมสงเคราะห์ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ของนิคมสร้างตนเองเชียงพิณ พื้นที่ของนิคมสร้างตนเองเป็นการจัดสรรที่ดินเพื่อให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนได้เช่าเพื่อการอยู่อาศัย และทำกิน ทำให้เทศบาลตำบลนิคมสงเคราะห์ไม่สามารถดำเนินเข้าไปพัฒนาได้ ต้องขออนุญาตนิคมสร้างตนเองในการพัฒนาในพื้นที่

                    –    ในผังเมืองรวมจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2560 กำหนดพื้นที่บริเวณเทศบาลตำบลนิคมสงเคราะห์เป็นที่ดินประเภทชุมชน (สีชมพู) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของนิคมสร้างตนเอง อาจเป็นปัญหาในการพัฒนา ทำให้การพัฒนาในพื้นที่เป็นไปได้ไม่เต็มที่

                    –    พื้นที่ตำบลหนองไฮส่วนหนึ่งเป็นภูเขากับอำเภอหนองแสง เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่มีหมู่บ้าน 16 แห่ง เป็นพื้นที่ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พื้นที่ป่าไม้ ที่ราชพัสดุ และพื้นที่ทหาร และพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลหนองไฮส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และข้าว

                    –    ควรหาแนวทางในการอนุญาตให้ดำเนินการเลี้ยงสัตว์กับร้านอาหารในพื้นที่เดียวกันได้ เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์ส่งกลิ่นเหม็น

               (2) การจัดทำร่างผังเมืองรวม

                    –    เสนอให้กำหนดขนาดอาคารในพื้นที่เทศบาลตำบลนิคมสงเคราะห์ ไม่อยากให้มีอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ เนื่องจากในปัจจุบันพื้นที่เทศบาลตำบลนิคมสงเคราะห์มีการใช้ประโยชน์ที่ดินลงตัวแล้ว ไม่ควรกำหนดให้มีการพัฒนาที่ทำให้พื้นที่มีความเปลี่ยนแปลงที่มากเกินไป

                    –    ควรควบคุมกิจการที่ก่อให้เกิดน้ำเสีย เช่น เกษตรกรรม ห้องพัก โรงแรม อุตสาหกรรม หรือโรงเรียนในพื้นที่เทศบาลตำบลนิคมสงเคราะห์ เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีลำรางธรรมชาติในการปล่อยของเสียลงลำห้วย

                    –    เสนอแนะให้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาที่เต็มศักยภาพ เช่น พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่เลี้ยงสัตว์

                    –    ไม่ควรให้มีอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุมชน

                    –    เสนอแนะให้ผลักดันโครงการถนนสาย ง 8 ตามผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี พ.ศ. 2553 เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดได้

                    –    ควรกำหนดขนาดของพื้นที่ลานกองเก็บ และซื้อขายสินค้าทางการเกษตรในพื้นที่
ที่เหมาะสม และมีขนาดที่เหมาะสม เนื่องจากในปัจจุบันลานกองเก็บ และซื้อขายสินค้าทางการเกษตร
ส่งกลิ่นเหม็นกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ และไม่ควรกำหนดให้มีในพื้นที่ชุมชน

                (3) กรอบแนวคิดและทางเลือกในการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี

                    –    ในการกำหนดให้พื้นที่บริเวณเทศบาลตำบลนิคมสงเคราะห์เป็นศูนย์กลางรอง อาจทำให้เกิดการพัฒนาได้ช้า เนื่องจากมีพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ของนิคมสร้างตนเองเชียงพิณ

                    –    แนวคิด และผังทางเลือกเป็นแนวคิดที่ดี เห็นด้วยกับผังทางเลือกที่ 2 ถ้าไม่มีการจำกัดการพัฒนา ควบคุมการใช้พื้นที่ ในอนาคตอาจก่อให้เกิดปัญหากับประชาชนในพื้นที่

                    –    ผังทางเลือกที่ 2 การเร่งให้เกิดโครงการรถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นเท่าการจราจร
ทางบก เพราะขนส่งมวลชนในพื้นที่ยังไม่สามารถบริการได้ทุกพื้นที่เพียงพอ การโดยสารด้วยรถไฟจะต้องไปต่อรถซึ่งไม่สะดวก

               ทั้งนี้ ในการรับฟังความคิดเห็น ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 2) ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับผังทางเลือกที่ 2 การขยายตัวอย่างระมัดระวังและยืดหยุ่นภายใต้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยความเสี่ยงภายนอก และเห็นว่าการพัฒนาของเมืองอุดรธานีมีความสอดคล้องกับแนวคิดในการวางผัง

     6)  การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 3)

               การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนการจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 3) พื้นที่กลุ่มเทศบาลตำบลหนองบัว เทศบาลตำบลหนองขอนกว้าง องค์การบริหารส่วนตำบลกุดสระ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองนาคำ และองค์การบริหารส่วนตำบลสามพร้าว จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 19 ตุลาคม 2565
เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมมงกุฎดาว โรงแรมสยามแกรนด์อุดรธานี มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 71 คน สามารถสรุปประเด็นที่ได้จากการประชุม ดังนี้

               (1) ศักยภาพ ปัญหา ข้อจำกัด

                    –    ปัจจุบันอำเภอเมืองอุดรธานีมีการกระจุกตัวของความเจริญในด้านเศรษฐกิจ การค้า และแค่ในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง จึงมีความจำเป็นที่จะขยายความเจริญในด้านต่างๆ ออกไปให้ครอบคลุมผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของประชาชนนอกเขตพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี

                        –     ขอให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่หยุดรถคำกลิ้งมีโอกาสที่จะเป็นสถานีของสถานีรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากพื้นที่บริเวณที่หยุดรถคำกลิ้งเป็นพื้นที่ของการรถไฟขนาดใหญ่

                    –    เสนอแนะให้กระจายสถานที่ราชการในพื้นที่ศูนย์กลางรอง เพื่อการเดินทางที่สะดวก และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี

                    –    เพิ่มความปลอดภัยบริเวณสวนสาธารณะหนองบัว

               (2) การจัดทำร่างผังเมืองรวม

                    –    ถนนสาย ก 7 ของผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี พ.ศ. 2553 มีการกำหนดไว้จนปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการ และแนวเส้นทางทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินของประชาชน เคยมีโครงการจัดรูปที่ดินบริเวณ
ถนนสาย ก 7 แต่มีเจ้าของที่ดินหลายแปลงไม่เห็นด้วย จึงเสนอแนะให้ยกเลิก หรือเปลี่ยนเส้นทางให้มี
ความเหมาะสม และกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด

                    –    ควรขยายถนนสาย ก 9 (ซอยเจริญทรัพย์) และถนนสาย ข 5 (ซอยข้างโรงเรียนหนองขาม)

                    –    เสนอแนะให้เกิดการผลักดันโครงการก่อสร้างถนนสาย จ ให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้จริง ในการก่อสร้างถนนสาย จ จะมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ ระบบไฟฟ้า และระบบการระบายน้ำ เนื่องจากในพื้นที่เทศบาลตำบลหนองขอนกว้างไม่มีทางระบายน้ำ

                    –    เห็นควรกำหนดแนวถนนที่มีแนวโน้มหรือมีความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง และอยู่ในระยะเวลาที่พอเหมาะ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเจ้าของพื้นที่ในการใช้ที่ดิน

                    –    เนื่องจากจังหวัดอุดรธานีมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควรกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา

               (3) กรอบแนวคิดและทางเลือกในการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี

                    –    ศูนย์กระจายสินค้าอาจเปลี่ยนจากบริเวณหนองตะไก้เป็นบริเวณหนองแด เนื่องจากบริเวณหนองตะไก้กระทบกับพื้นที่ชุมชน และมีการเร่งการก่อสร้างรถไฟทางคู่จากหนองคาย – อุดรธานี
คาดว่าในระยะแรกจะสิ้นสุดที่หนองแด หากสิ้นสุดที่หนองแดศูนย์กระจายสินค้าควรจะอยู่บริเวณหนองแด

                    –    เห็นด้วยที่มีการกำหนดศูนย์กลางรอง เพื่อให้การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมีการเตรียมการรองรับ และสามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

                    –    พื้นที่เทศบาลตำบลหนองบัวมีบางส่วนเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ทำให้จำกัดการพัฒนา จึงเห็นด้วยกับผังทางเลือกที่ 1 เพราะเทศบาลตำบลหนองบัวมีพื้นที่ติดกับเทศบาลนครอุดรธานี ควรส่งเสริมการพัฒนาอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันในพื้นที่

                    –    ผังทางเลือกที่ 1 มีการกำหนดโครงข่ายที่เชื่อมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 แห่ง (เทศบาลตำบลหนองบัว เทศบาลตำบลหนองนาคำ และองค์การบริหารส่วนตำบลสามพร้าว) เป็นเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง เนื่องจากกระทบกับที่ดินของประชาชนน้อย และพื้นที่ส่วนใหญ่ที่แนวเส้นทางพาดผ่านเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

                    –    เห็นด้วยกับผังทางเลือกที่ 1 ส่งเสริมให้เมืองเติบโตสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน การขยายเส้นทางไม่ทันกับการขยายตัวของเมืองทำให้เกิดปัญหารถติด

                    –    ผังทางเลือกที่ 1 สอดคล้องกับการเติบโตของเมืองในปัจจุบัน และในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี – ตำบลสามพร้าว – ตำบลหนองบัว ควรมีการกำหนดแนวถนนและการระบายน้ำให้ชัดเจน

                    –    เห็นด้วยกับผังทางเลือกที่ 2 การขยายตัวของเมืองควรควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้มีงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมกับการขยายตัวของเมืองที่กำหนดไว้ในผังทางเลือกที่ 1

                    –    ผังทางเลือกที่ 2 ไม่สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเมืองในปัจจุบัน

                    ทั้งนี้ ในการรับฟังความคิดเห็น ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 3) ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับผังทางเลือกที่ 1 การขยายตัวตามนโยบายแผนงานโครงการขนาดใหญ่ และเห็นว่าการพัฒนาของเมืองอุดรธานีมีความสอดคล้องกับแนวคิดในการวางผัง

     7)  การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 4)

               การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนการจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 4) พื้นที่กลุ่มเทศบาลเมืองโนนสูง – น้ำคำ เทศบาลตำบลบ้านตาด เทศบาลตำบลหนองไผ่ และองค์การบริหารส่วนตำบลโนนสูง จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 19 ตุลาคม 2565 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุม see view ไอวิวพาร์ค รีสอร์ท อุดรธานีมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 34 คนสามารถสรุปประเด็นที่ได้จากการประชุม ดังนี้

               (1) ศักยภาพ ปัญหา ข้อจำกัด

                    –    ในอดีตได้มีการกันแนวเพื่อก่อสร้างถนนไว้ แต่เนื่องจากยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างมาเป็นระยะนาน จึงทำให้แนวและหลักหมุดที่เคยปักไว้สูญหาย และมีการใช้ประโยชน์ที่ดินในแนวดังกล่าว

                    –    ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโรงงาน จะมีรถบรรทุกวิ่งขนส่งจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาผิวจราจรชำรุด

                    –    ในขั้นตอนการก่อสร้างเหมืองแร่ช่วงแรกตามแผนคาดว่าจะมีแรงงานจำนวน 2,000 คน
โดยหากดำเนินการจนแล้วเสร็จถึงขั้นตอนสุดท้ายคาดว่าจะมีแรงงานจำนวน 20,000 คน

               (2) การจัดทำร่างผังเมืองรวม

                    –    ปัจจุบันทางคณะกรรมการแร่ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้อนุญาตประทานบัตร การทำเหมืองประเภทที่ 3 การทำเหมืองใต้ดิน ประเภทแร่โพแทช มีอายุโครงการ 25 ปี อีกทั้งยังมี
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกัน ทำให้ในอนาคตจะมีประชาชนเข้ามาทำงานจำนวนมากดังนั้นจึงควรอนุญาตให้ในพื้นที่สามารถทำการพัฒนาโรงแรม อาคารพักอาศัยรวม และหมู่บ้านจัดสรรได้

                    –    พื้นที่บริเวณโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ควรอนุญาตให้ทำกิจกรรมด้านพักอาศัยได้
เพื่อรองรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการของโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งคนในจังหวัดและต่างจังหวัด

                    –      ในอนาคตหากมีประชาชนเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นจำเป็นต้องการพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการรองรับให้เพียงพอ 

                    –    เสนอให้ทะเลบัวแดง เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

               (3) กรอบแนวคิดและทางเลือกในการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี

                    ในพื้นที่แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อจำกัดในการพัฒนาที่แตกต่างกัน ดังนั้น
การพัฒนาตามผังทางเลือกจึงมีความเหมาะสมแตกต่างกัน

               ทั้งนี้ ในการรับฟังความคิดเห็น ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 4) ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับผังทางเลือกที่ 2 การขยายตัวอย่างระมัดระวังและยืดหยุ่นภายใต้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยความเสี่ยงภายนอก และเห็นว่าการพัฒนาของเมืองอุดรธานีมีความสอดคล้องกับแนวคิดในการวางผัง

8)  การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 5)

               การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนการจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 5) พื้นที่กลุ่มเทศบาลตำบลนาข่า องค์การบริหารส่วนตำบลนาข่า องค์การบริหารส่วนตำบลนากว้าง และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขาว จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2565 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมจอมขวัญ โรงแรมนาข่าบุรี รีสอร์ท อุดรธานี มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 61 คนสามารถสรุปประเด็นที่ได้จากการประชุม ดังนี้

               (1) ศักยภาพ ปัญหา ข้อจำกัด

                    –    มีปัญหาด้านการขุดดินถมดิน โดยไม่มีการคำนึงถึงความสูงที่ทำการถม และทิศทางการไหลของน้ำ นอกจากนี้ในอดีตพื้นที่เคยมีคลองขนาดเล็กจำนวนมากแต่ปัจจุบันคลองดังกล่าวโดนถมไปจนเกือบหมดแล้ว

                    –    ถนนบริเวณแยกบ้านผือ มีปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน และติดตั้งสัญญาณไฟจราจร

                    –    บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ในเขตตำบลบ้านขาว มีปัญหาในเรื่องตำแหน่งจุดกลับรถไม่เหมาะสม ขอให้ทำการย้ายจุดกลับรถไปยังบริเวณศาลปกครองจังหวัดอุดรธานีจะมีความเหมาะสมที่สุด      

                    –    มีปัญหาเรื่องไฟส่องสว่างไม่เพียงพอบริเวณริมทางหลวงแผ่นดิน และตามจุดกลับรถ

                    –    ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ควรมีแผนหรือโครงการแก้ไขปัญหา

               (2) การจัดทำร่างผังเมืองรวม

                    –    ตำบลบ้านขาว เสนอให้มีการกำหนดโซนพื้นที่ที่สามารถดำเนินการโรงงานอุตสาหกรรมได้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับชุมชนอยู่อาศัย

                    –   เสนอให้พัฒนาการเชื่อมโยงถนนสายรอง กับถนนสายหลัก ในพื้นที่เทศบาลตำบลนาข่า ต่อเนื่องยังองค์การบริหารส่วนตำบลนาข่า องค์การบริหารส่วนตำบลกุดสระ และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2

                    –    ในการพัฒนาถนนวงแหวนเลี่ยงเมืองรอบที่ 2 จำเป็นต้องการพัฒนาสาธารณูปโภค และ สาธารณูปการควบคู่กันไป รวมทั้งเตรียมแผนหรือพื้นที่สำหรับรองรับน้ำเนื่องจากการสร้างถนนจะให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลงไป

                    –    เสนอให้มีการขยาย และปรับปรุงเส้นทางคมนาคมจากเทศบาลตำบลข่า มายังพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี

                    –    เสนอให้พื้นที่บึงสังข์ และบึงชวนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

               ทั้งนี้ ในการรับฟังความคิดเห็น ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม ครั้งที่ 2 (กลุ่มที่ 5) ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับผังทางเลือกที่ 2 การขยายตัวอย่างระมัดระวังและยืดหยุ่นภายใต้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยความเสี่ยงภายนอก และเห็นว่าการพัฒนาของเมืองอุดรธานีมีความสอดคล้องกับแนวคิดในการวางผัง